รู้ทันอาการเมารถ ให้ทุกการเดินทางมีแต่เรื่องสนุก

หลายคนเคยมีอาการวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียนขณะโดยสารยานพาหนะต่างๆ ที่เรียกว่าอาการ ‘เมารถ’ เรามารู้จักอาการเหล่านี้เพื่อให้การเดินทางครั้งต่อไปจะไม่หมดสนุก

อาการคลื่นเหียนเวียนหัวที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการ เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ล้วนแต่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่ประสบปัญหานี้ ถ้าเดินทางไปทำงาน พอไปถึงจุดหมายกลายเป็นว่าร่างกายไม่พร้อมสำหรับภารกิจในความรับผิดชอบ เมื่ออาการเมามาเยือนขณะไปท่องเที่ยว เป็นอันว่าหมดสนุก

ไม่มีความยุติธรรมในความเมา

อาการเมารถเมาเรือไม่เข้าใครออกใคร บางคนนั่งรถเลาะเขาไปหลายร้อยโค้งยังคงเพลิดเพลินชมวิวสบายใจ ในขณะที่เพื่อนร่วมทางในรถคันเดียวกัน แค่รถเลี้ยวต่อกันสองโค้งก็เริ่มจะมึนเสียแล้ว ที่เป็นแบบนี้เพราะประสาทรับรู้ของแต่ละคนมีความไวแตกต่างกันนั่นเอง

โดยปกติเมื่อร่างกายของเรามีการเคลื่อนที่ สมองจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผ่านหลายช่องทางประกอบกัน ทั้งการมองเห็น การได้ยิน และการรับรู้ทางร่างกาย เช่น เวลาที่เราเดิน ทุกระบบจะรับรู้ถึงอาการโคลงเคลง ทุกส่วนจะส่งสัญญาณตรงกันไปที่สมองว่า “นี่เรากำลังเคลื่อนไหว”

อาการเวียนหัวเกิดขึ้นเมื่อแต่ละช่องทางการรับรู้ส่งข่าวสารไม่ตรงกัน เช่น เมื่อเรานั่งอยู่เบาะหลังรถมีเบาะบังอยู่ข้างหน้า สายตาเราจับจ้องในสิ่งที่ดูเหมือนอยู่นิ่งๆ ยิ่งถ้าก้มหน้าเล่นมือถือ เรายิ่งต้องเพ่งสายตาให้หน้าจอนิ่งเพื่อจะอ่านได้ถนัด สายตาก็จะบอกกับสมองว่า “เรากำลังอยู่นิ่งๆ” แต่ร่างกายสัมผัสกับความขรุขระโคลงเคลงไปมา ก็จะส่งข่าวไปยังสมองว่า “ไม่นะ เรากำลังเคลื่อนที่ต่างหาก” สมองก็จะเริ่มสับสน และพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมบรรดาประสาทสัมผัสต่างๆ ถึงแจ้งข่าวไม่ตรงกัน แล้วก็จะสรุปเอาว่าจะต้องมีสิ่งแปลกปลอมเล็ดลอดเข้ามาอย่างแน่นอน จากนั้นสมองก็จะออกมาตรการเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมด้วยการสั่งร่างกายให้ ‘อาเจียน’

การที่บางคนเมารถง่าย ก็เพราะประสาทสัมผัสมีความไวต่อการรับรู้ กระนั้น ในคนๆ เดียวกัน ระดับความไวในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกัน ทำให้บางทีก็เมาง่าย บางวันก็ไม่เมา ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพร่างกายในขณะนั้น

กุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาเมารถและเมายวดยานพาหนะทุกชนิดก็ คือ ทำเลที่นั่ง สังเกตได้ว่า ไม่เคยมีคนขับเมารถ เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจนรอบด้าน และเป็นคนที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของรถด้วยตัวเอง ประสาททุกส่วนจึงรับรู้และสื่อข่าวสารโดยพร้อมเพรียงไปที่สมองว่าเรากำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

ดังนั้น คนเมารถง่ายจำไว้เลย ทำเลที่ดีที่สุดสำหรับผู้โดยสารก็คือการนั่งคู่กับคนขับ รองลงไปก็คือนั่งเบาะหลังถัดจากคนขับ โดยพยายามอยู่ตรงกลางที่สามารถมองตรงไปข้างหน้าระยะไกลได้ชัดเจน

ถ้า นั่งเรือ ควรนั่งกลางลำเรือ ให้อยู่ใกล้กับระดับน้ำมากที่สุด

ถ้า นั่งเครื่องบิน ควรเลือกที่นั่งที่อยู่ด้านหน้าของปีกเครื่องบิน

ถ้า นั่งรถไฟ ที่นั่งใกล้หน้าต่าง ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพด้านนอกได้ชัดเจนถือว่าเยี่ยม

เมารถ
ก่อนหน้านี้ มีผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดังออกนวัตกรรมแก้เมารถด้วยหลักการง่ายๆ คือ การประดิษฐ์แว่นตาแก้เมารถ ลักษณะเป็นแว่นไร้เลนส์ ตรงกรอบแว่นบรรจุของเหลวสีฟ้า เพื่อช่วยระบบประสาทตาให้รับรู้การเคลื่อนไหวจากของเหลวสีฟ้าในกรอบแว่นที่ไหลไปมาตามจังหวะการเคลื่อนที่ของรถ ถ้าใครมีปัญหาเรื่องสายตาก็สามารถนำกรอบแว่นแก้เมาไปใส่เลนส์สายตาสั้นยาวได้ตามความเหมาะสม แต่เจ้าแว่นแก้เมาที่ว่าก็ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก

ข้อคิดสำคัญ อย่าพยายามป้องกันการเมารถด้วยการงดอาหาร เพราะกลัวจะไปอาเจียนกลางทาง ที่จริงแล้ว ท้องว่างจะทำให้เมาง่าย ทางที่ดี กินอาหารตามปกติก่อนออกเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง

อีกวิธีซึ่งยังคงได้รับความนิยมคือการกินยาแก้เมา 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมไปควบคุมประสาทการทรงตัวให้มีความไวน้อยลง เพื่อจะรับรู้ต่อแรงกระตุ้นได้น้อยลงด้วย

ขอบคุณที่มา : :www.bangkokbanksme.com
รูป : www.pexels.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *