แมงมัน อาหารตามฤดูกาล ของชาวเหนือ

วัฒนธรรมการกินอาหารแมลง สำหรับคนไทยนั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตที่เราคุ้นชินกันมานานแสนนาน เกิดจากการสั่งสมเรียนรู้และผ่านการสังเกต ลองผิดลองถูก จนสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ การกินอาหารแมลงนั้นพบว่ามีมานานแล้ว โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งแมลงบางชนิดหน้าตาอาจไม่น่ากินสักเท่าไหร่ แต่กลับมีราคาแพง ซื้อขายกันกิโลกรัมละหลายร้อยจนถึงหลายพันบาท

หลายคนคิดว่าแมลงไม่น่าจะเป็นอาหารได้ แต่บางคนบอกว่า แมลงบางชนิดนอกจากมีรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าเทียบเท่าหรือมากกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว เลยทีเดียว

แมงมัน (อังกฤษ: subterranean ants) เป็นชื่อเรียกของมดชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นมดราชินีสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ และมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Carebara sp. 1 of AMK

แมงมันตัวเมีย มีสีแดงคล้ำ ตัวใหญ่ มีรสมันนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันแม่”

แมงมันตัวผู้ มีสีเหลือง ตัวเล็กกว่าแมงมันตัวเมีย ไม่นิยมรับประทานเพราะมีรสขม เรียกกันทั่วไปว่า “แมงมันปู๊” หรือ “แมงมันคา”

แมงมัน เป็นอาหารตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ง่ายนักจึงเป็นที่ต้องการของชุมชน ที่นิยมรับประทานทั้งไข่ และลูกแมงมัน เฉพาะตัวเมีย ดังนั้นแมงมันจึงมีราคาดีพอสมควรเพราะนอกจากจะมีน้อยแล้วปีหนึ่งๆ จะมีให้รับประทานเพียงครั้งเดียว ไข่แมงมันที่ เรียกว่า “แมงมันจ่อม” ขายเป็นช้อน (คาว) ๆละ 20 บาท ลูกแมงมันที่คั่วแล้วใช้ถ้วยน้ำจิ้มเล็กๆ เป็นถ้วยตวงถ้วยละ 60 บาท ถ้าเป็น ขีดๆละ 100 บาท ส่วนแมงมันตัวผู้จะใช้เป็นเหยื่อตกเบ็ดปลาช่อน,ปลาสลิด

แมงมันชอบอาศัยอยู่ตามที่ดินที่เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบดินแข็งและชอบอยู่ใกล้รากไม้ใหญ่ๆ คล้ายปลวก แต่ไม่ก่อดิน หรือพูนดินขึ้นเป็นจอมปลวก ในรอบหนึ่งปีแมงมันจะออกจากรูเฉพาะเดือนพฤษภาคม คือฤดูฝน เพราะน้ำฝนที่ซึมลงดินทำให้ แมงมันอยู่ไม่ได้จะออกจากรูขึ้นมาอยู่บนผิวดิน แมงมันจะไม่ย้ายรังถ้าไม่ถูกรบกวนจากคน ก่อนที่ลูกแมงมันจะออกมาแม่จะออกมา ก่อนเพื่อขยายรูให้กว้างขึ้น เพราะลูกแมงมันตัวโตกว่า แม่แมงมันจะใช้เวลาขยายรูประมาณ 3 ชั่วโมง ลูกแมงมันถึงจะต้องออกมา

ที่มา Facbook สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพะเยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *