“อองซาน ซูจี” จากวีรสตรีประชาธิปไตย สู่ผู้นำที่ถูกยึดอำนาจ

ประวัติ “อองซาน ซูจี” วีรสตรีหญิงผู้เรียกร้องประชาธิปไตย สู่วันที่ถูกยึดอำนาจอีกครั้งจากรัฐบาลทหารในเมียนมาหนึ่งในผู้นำหญิงสุดแกร่งประเทศ “เมียนมา” อย่าง “อองซาน ซูจี” ที่ล่าสุดได้ถูกจับกุมตัวพร้อมกับ “อู วิน มินต์” ประธานาธิบดีเมียนมา จากการทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจของ “พล.อ.มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

“ซูจี” เข้าสู่การเมือง
“ซูจี” เป็นนักการเมืองหญิงวัย 75 ปี เกิดในปี 2488 บุตรสาวคนเล็กสุดของ “นายพลอองซาน” วีรบุรุษนักสู้เพื่อเอกราช ที่ถูกลอบสังหารตอน “ซูจี” อายุได้ 2 ขวบ ทำให้ต้องอาศัยอยู่กับผู้เป็นแม่ “ดอว์ขิ่นจี” จนกระทั่งเติบโต มีครอบครัว และเดินทางกลับมาเมียนมาในปี 2531 ด้วยวัย 43 ปี

Cr:themomentum.co

การกลับมาเมียนมาครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตทางการเมือง โดย “ซูจี” ได้เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นปราศรัยต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย จากผู้นำทหารที่จะจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐขึ้นแทนจนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน 2531 “ซูจี” ได้จัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ถูกจองจำ ครั้งแรก-ปัจจุบัน
ตั้งแต่ ปี 2532-2546 “ซูจี” ถูกกักบริเวณ และได้รับการปล่อยตัว เป็นลูปอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2553 ได้รับการปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งการถูกจับกักบริเวณแต่ละครั้ง ล้วนเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารทั้งสิ้น

จนล่าสุด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 “ซูจี” ได้ถูกจับกุมตัวอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังถูกกล่าวหาว่า ทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

รางวัลแห่งเกียรติยศ ระหว่างจองจำ
ในปี 2534 ขณะที่ “ซูจี” กำลังถูกกักบริเวณ คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ก็ยังได้ประกาศชื่อ “อองซาน ซูจี” เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเธอไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง

“อเล็กซานเดอร์” และ “คิม” บุตรชายทั้งสองของ “ซูจี” ได้บินไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์“อเล็กซานเดอร์” กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมในพิธีว่า

“ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้อง ให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ”

ความท้าทายปัญหา “โรฮีนจา”
“ซูจี” ได้เผชิญกับปัญหาระดับมนุษยชาติ กับการอพยพของ “ชาวโรฮีนจา” เมื่อปี 2560 บีบีซี รายงานว่า ชาวโรฮีนจา ชาวมุสลิมส่วนน้อยของประเทศ มีประชากรนับแสนคน ที่ได้อพยพไปบังคลาเทศ ภายหลังกองทัพเมียนมาส่งทหารเข้าปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุจลาจลในรัฐยะไข่

Cr: news.mthai.com

ผู้สนับสนุนเธอในเวทีนานาชาติในอดีตกล่าวหาเธอว่า ละเลย ไม่ใส่ใจที่จะสกัดกั้นการสังหาร และข่มขืนชาวโรฮีนจา ที่เกือบเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเธอปฏิเสธที่จะประณามกองทัพที่ทรงอำนาจ และไม่ยอมรับว่ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในประเทศ โรฮีนจา แม้จะเผชิญเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ ในปัญหา โรฮีนจา แต่ด้วยความเสียสละและความกล้าหาญในการเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้ “ซูจี” ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวพุทธ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมา

ขอบคุณที่มา: www.prachachat.net
รูปปก: ichef.bbci.co.uk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *