เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสถึง สิ่งลำบากที่สุดของพระพุทธศาสนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช นั้นท่านทรงเป็นห่วงประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด และท่านก็จะมีพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท แก่ชาวไทย ซึ่งแต่ละพระราชดำรัสของท่านนั้น ย่อมมุ่งสอน บอก แต่ในสิ่งที่ดีงาม ขออัญเชิญพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ยังคงประทับอยู่ในใจของคนไทยทั้งปวง

เนื่องจากที่ได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายหวังในบารมี ให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้น ก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมือง ประกอบด้วยบุคคล และแต่ละบุคคลจะต้องทำด้วยตนเอง ตามหลักของพระพุทธศาสนา แต่ละคนจะต้องการอะไรก็ต้องการความสุขคือความสงบ และความสุขและความสงบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยตนเอง

ฉะนั้น ที่จะให้คนอื่นมาปกป้องรักษา ก็เป็นสิ่งที่ยากถ้าตัวเองไม่ทำ อันนี้เป็นข้อที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา และผู้ถือตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนต้องพึ่งตัวเอง มิใช่พึ่งคนอื่น แต่การที่จะอาศัยคนอื่นก็อาศัยได้ โดยดูผู้อื่นที่ปฏิบัติดีชอบ และคอยฟังสิ่งที่ผู้อื่นที่เราเห็นว่าปฏิบัติดีชอบ ได้พูดได้แนะนำ ดังนี้ ก็เป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้

ฉะนั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาของตัวเองว่า ผู้นั้นควรเป็นผู้ที่น่าจะดูการปฏิบัติ หรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติและทำตามหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคล ได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้

มาถึงปัญหาของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งลำบากที่สุด ที่จะเห็นพระพุทธศาสนา และที่จะเห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา เพราะแต่ละคนก็มีกายและใจของตัว แต่ละคนมีความรู้ หรือปฏิปทาของตัว แล้วแต่ภูมิแต่ขั้น การที่จะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานั้น ย่อมจะเป็นแล้วแต่บุคคล แล้วแต่สภาพของตัว ฐานะนี้ไม่ได้หมายถึงฐานะทางการเงินการทอง หรือความเป็นอยู่ แต่หมายถึงฐานะของจิตของแต่ละคน

ฉะนั้นถ้าว่าไป พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ลุ่มลึก ที่ลำบากที่จะสั่งสอน หรือที่จะเรียน เพราะว่าแต่ละคนจะต้องทำตามฐานะของตัว หรือจะว่าได้ว่าพุทธศาสนามีหลายชนิด แต่ละคนก็มีพุทธศาสนาของตัว ฉะนั้น การที่จะสั่งสอน การที่จะชี้แจง การที่จะฟัง การที่จะเรียนพุทธศาสนานั้น จะต้องพยายามที่จะทำด้วยตนเอง

การปฏิบัตินั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยมากพูดถึงปฏิบัติก็กลัวกัน เพราะว่าปฏิบัตินั้นมีวิธีต่างๆ แล้วก็โดยมากวิธีต่างๆนั้น บรรยายกันมาว่า ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องทรมาน ต้องเหนื่อย ต้องเสียเวลามาก ไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกมาปฏิบัติ

ความจริงปฏิบัติพระพุทธศาสนาตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ของยาก แต่ละคนทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าก็จะต้องมีความตั้งใจ เมื่อเราอยากที่จะปฏิบัติธรรม มีความอยากแล้วก็หมายความว่าเรายินดี เราอยากที่จะปฏิบัติ มีข้อนี้เป็นต้น ถ้าเราสนใจพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา

เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่อยากปฏิบัติ ขี้เกียจปฏิบัติ หรือไม่คิดอ่านที่จะปฏิบัติ ก็ย่อมไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อไม่ได้ปฏิบัติแล้วความมืดก็ครอบคลุม เพราะว่าไม่ได้เปิดไฟ

แต่ถ้าเราอยากขึ้นมา อยากและก็เห็นว่าศาสนานี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ก็ย่อมเป็นการเปิดไฟ แม้จะริบหรี่ก็เป็นความสว่างให้เห็น อย่างเช่น เราเข้าไปในห้องที่มืดแล้ว เราก็ไม่รู้จักห้องนั้น ไม่ทราบว่าสวิทช์ไฟอยู่ที่ไหน เรามีไฟฉาย แล้วก็เปิดไฟฉายอันริบหรี่นั้น หรือไม้ขีดไฟที่เป็นแสงสว่าง

ไปหาสวิทช์ไฟ ถ้าเราไม่ไปหาสวิทช์ไฟ เราก็ไม่สามารถที่จะเปิดไฟที่อยู่ในห้องนั้น คือ มีหลอดไฟ มีสายไฟ มีสวิทช์ครบถ้วนในห้องนั้น เราไม่สามารถจะพบนอกจากบังเอิญ โดยบังเอิญเราไปแตะสวิทช์ไฟแล้วก็เปิดขึ้นมา แต่ว่าโดยมากก็ต้องทำ

เมื่อหาได้แล้วด้วยไฟริบหรี่เรามีอยู่กับตัว ก็สามารถไปเปิดไฟได้ ไฟริบหรี่นี้คือ การสนใจเบื้องต้น เมื่อเราไปเปิดไฟได้แล้ว ก็จะสว่างขึ้นมา มันสว่าง ไฟที่อยู่ในห้องนั้นอาจจะไม่สว่างเต็มที่ อาจจะมีหลายแห่ง ก็เปิดไฟอันนั้น ก็มีความปีติยินดีแล้ว ก็เป็นอันว่า เราพอใจในการปฏิบัติเช่นนั้น คือเปิดสวิทช์ไฟมันมีความสว่างดี

เปิดสว่างดีก็ย่อมมีความพอใจ สบายใจ มีความร่าเริงใจ ความร่าเริงใจนี้ ความสบายใจเบื้องต้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า ฉันทะ คือ ความพอใจในการปฏิบัติ มีความพอใจในการค้นคว้า

ส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสที่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓

ขอบคุณที่มา: www.followingmyking.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *