มะระขี้นก ช่วยต้านเบาหวาน

แพทย์แผนไทยเผยผลวิจัยมะระขี้นก มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สามารถนำมารับประทานได้ มีความปลอดภัยสูง พร้อมแนะผักพื้นบ้านอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านเบาหวาน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อแต่เป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญทางระบบสาธารณสุขทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินบกพร่อง อาการสำคัญที่สังเกตได้ของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย มีอาการชาปลายมือปลายเท้า หากมีบาดแผล มักจะหายช้า ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดความพิการตามมา

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ขอแนะนำ “มะระขี้นก” ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับทั้งในสัตว์ทดลองและในผู้ป่วยเบาหวาน ยืนยันว่า สาร charantin ที่พบในมะระขี้นก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง และการใช้มะระขี้นกขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน จากการติดตามผลไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง และไม่พบความเป็นพิษต่อตับ ซึ่งทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า การใช้มะระขี้นก ไม่ว่าจะใช้เป็นอาหารหรือเป็นยาในการป้องกันหรือรักษาโรคเบาหวานนั้นมีความปลอดภัย และปัจจุบันมะระขี้นก จัดเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเบิกจ่ายได้ในคลินิกการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐได้ทั่วประเทศ

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้มะระขี้นกเพื่อลดน้ำตาลในเลือด ให้เน้นการรับประทานเป็นอาหาร เพราะจะได้ไฟเบอร์ แร่ธาตุ และวิตามินอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ก็ควรจำกัดการบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่น ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน อาทิ ผักเชียงดา กะเพรา ชะพลู ตำลึง ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชผักสมุนไพรใกล้ตัวและเป็นที่รู้จัก ซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาดชุมชน หากประชาชนท่านใดสงสัยข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดรักษาโรคเบาหวาน สามารถสอบถามได้ที่เฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือสอบถามข้อมูลกับแพทย์แผนไทยได้ทั่วประเทศ

ขอบคุณที่มา: www.thaihealth.or.th
รูปปก: blog.arda.or.th/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *